ฮาลาล คืออะไร มีอะไรบ้าง มีกี่ประเภท ห้ามกินอะไร ?

Publsihed Date : 2024-05-22

Tag : แต่งงานมุสลิม

ฮาลาล คืออะไร มีอะไรบ้าง มีกี่ประเภท ห้ามกินอะไร ?

หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า อาหารฮาลาล ผ่านหูกันมาบ้างไม่มากก็น้อย แต่รู้หรือไม่ว่า ฮาลาล นั้นครอบคลุมมากกว่าอาหาร และอาหารฮาลาลนั้นก็ไม่ใช่แค่อาหารที่ปราศจากเนื้อหมู หากคุณกำลังสงสัยว่า ฮาลาล นั้นคืออะไร ในบทความนี้มีคำตอบ!

ฮาลาล คืออะไร ?

ฮาลาล (Halal) คำภาษาอารบิกที่มีความหมายว่า การผลิตหรือการบริการที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนาอิสลาม เช่นอาหาร เครื่องใช้ หรือสาธารณูปโภค โดยสินค้า ผลิตภัณฑ์หรือการบริการต่าง ๆ ที่กล่าวมา จะต้องถูกรับรองโดยคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยการรับรอง อนุญาตินั้น คือการออกตรา ติดเครื่องหมายฮาลาลบนสลากผลิตภัณฑ์หรือกิจการนั่นเอง

ตราฮาลาล

เครื่องหมายฮาลาลคืออะไร ?

เครื่องหมายฮาลาล หรือตราฮาลาล คือ ตราที่มีภาษาอาหรับเขียนอยู่ตรงกลางว่า حلال คำนี้อยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หลังกรอบเป็นลายเส้นแนวตั้ง และใต้กรอบภายในเส้นขนานมีคำว่า “สนง.คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย” โดยคณะกรรมการฝ่ายกิจการฮาลาลของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย หรือคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดต่าง ๆ จะเป็นผู้ออกเครื่องหมายฮาลาล แสดงถึงการอนุญาติให้ผู้ประกอบการสามารถประทับตราลงบนสลาก หรือผลิตภัณฑ์ หรือกิจการใด ๆ ได้ ซึ่งเครื่องหมายฮาลาล เป็นสัญลักษณ์ว่าชาวมุสลิมสามารถบริโภคอาหาร หรืออุปโภคสินค้าหรือบริการต่างๆ ได้อย่างสบายใจนั่นเอง

มาตรฐานอาหารฮาลาลมีอะไรบ้าง ?

หน้าที่ของผู้เชือดสัตว์ตามศาสนบัญญัติเพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ที่ฮาลาล มีดังนี้

  1. ต้องนับถือศาสนาอิสลาม
  2. สัตว์ที่จะเชือดนั้น ต้องเป็นสัตว์ที่รับประทานได้ตามหลักศาสนาอิสลาม
  3. ต้องไม่ปะปนสัตว์ที่จะเชือดกับสัตว์ต้องห้ามในระหว่างขนส่ง
  4. ต้องไม่ทารุณสัตว์ก่อนการเชือด ตลอดจนอุปกรณ์ที่ใช้ในการเชือดต้องมีความคม
  5. ให้ผู้เชือดกล่าวพระนามของพระผู้เป็นเจ้า ขณะเริ่มทำการเชือด โดยต้องเชือดในคราวเดียวกันให้แล้วเสร็จ โดยไม่ทรมานสัตว์
  6. ต้องเชือดให้หลอดลม หลอดอาหารและเส้นเลือดข้างลำคอของสัตว์ที่ถูกเชือด ขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง โดยสัตว์จะต้องตายเพราะการเชือดเท่านั้น สัตว์นั้นต้องตายสนิทเองก่อน จึงจะนำไปดำเนินการอย่างอื่นต่อได้

ผู้ประกอบการ หรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาล มีหน้าที่ ดังต่อไปนี้

  1. รักษาอุปกรณ์ในการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาลให้สะอาดถูกต้องตามศาสนบัญญัติ ตลอดจนไม่ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวร่วมกับของต้องห้ามตามศาสนบัญญัติ
  2. วัตถุดิบหลักในการผลิต ตลอดจนเครื่องปรุงอื่น ๆ ต้องระบุแหล่งที่มาอันน่าเชื่อถือได้ว่า “ฮาลาล” โดยไม่แปดเปื้อนกับสิ่งต้องห้าม
  3. วัตถุดิบที่ได้จากสัตว์ต่าง ๆ นั้น ต้องเป็นสัตว์ที่ศาสนาอิสลามอนุมัติ และหรือได้เชือดตามศาสนบัญญัติ
  4. เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมการผลิต หรือปรุงผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ต้องเป็นมุสลิม
  5. ในระหว่างการขนย้าย ขนส่ง หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฮาลาลนั้น ต้องไม่ปะปนผลิตภัณฑ์ฮาลาลนั้น ต้องไม่ปะปนผลิตภัณฑ์ฮาลาลกับสิ่งต้องห้ามตามศาสนบัญญัติ

การรับรองฮาลาล มีกี่ประเภท ?

  1. ผลิตภัณฑ์อุปโภ
  2. ผลิตภัณฑ์บริโภค
  3. การเชือดสัตว์ การชำแหละ การแปรรูป
  4. การบริการอาหาร เครื่องดื่ม ครัวฮาลาล
  5. ผลิตภัณฑ์ฮาลาล ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป วัตถุดิบ ส่วนผสม และหรือเนื้อสัตว์ฮาลาล นำเข้าจากต่างประเทศ
  6. การขนส่งและหรือกาโลจิสติค
  7. เวชภัณฑ์และเครื่องสำอางค์
  8. บรรจุภัณฑ์
  9. เอกสารเพื่อการส่งออก
  10. ประเภทอื่นใดตามที่คณะกรรมการเห็นชอบ

ฮาลาล ห้ามกินอะไร (ฮารอม)?

  • หมู หมูป่า สุนัข
  • ห้ามบริโภคสัตว์ที่กินเนื้อเป็นอาหารที่มีเขี้ยวและกรงเล็บ เช่น เสือ สิงโต รวมถึงนกล่าเหยื่อที่มีกรงเล็บ เช่น นกอินทรี นกแร้ง
  • สัตว์มีพิษ เช่น ตะขาบ แมงป่อง งู
  • สัตว์ที่ห้ามฆ่าในศาสนาอิสลาม เช่น ผึ้ง มด และนกหัวขวาน
  • สัตว์น่ารังเกียจโดยทั่วไป เช่น เห็บ หมัด แมลงวัน หนอน หรือสัตว์อื่นๆ ที่คล้ายกัน
  • สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น กบ คางคก และสัตว์อื่นๆ ที่คล้ายกัน
  • ลาและล่อที่เลี้ยงเอาไว้ใช้งาน
  • เนื้อของซากสัตว์ หมายถึงสัตว์และสัตว์ปีกที่ตายเองโดยไม่ได้ผ่านการเชือดอย่างถูกต้องตามบทบัญญัติศาสนา
  • สัตว์บกและสัตว์ปีก ที่ไม่ได้เชือดอย่างถูกต้องตามกฎศาสนาอิสลาม เช่น ถูกรัดคอตาย ถูกตีจนตาย ตกมาตาย
  • สัตว์ที่ถูกพลีให้แก่สิ่งอื่นจากอัลเลาะห์ ซึ่งหมายถึงสัตว์ที่ถูกเชือดโดยผู้เชือดกล่าวนามอื่นจากนามอัลเลาะห์ เหตุผลที่ห้ามสำหรับกรณีนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความศรัทธาทั้งสิ้น

จำนวนประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามในประเทศไทยนั้นมีมากเป็นอันดับ 2 เกินกว่า 4 ล้านคน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการ หรือใครที่มีเพื่อนเป็นชาวอิสลาม ควรทำศึกษา ทำความคุ้นเคยเกี่ยวกับ ฮาลาล เพื่อเป็นการให้เกียรติ และเพิ่มพูนความเข้าใจเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างฉันมิตรในสังคม