8 ลำดับพิธีแต่งงานแบบไทย ง่ายๆ มีอะไรบ้าง ที่ควรรู้ ?

Publsihed Date : 2023-12-06

Tag : แต่งงานปาร์ตี้งานเลี้ยง

8 ลำดับพิธีแต่งงานแบบไทย ง่ายๆ มีอะไรบ้าง ที่ควรรู้ ?

เมื่อความรักของคนสองคนเดินทางมาถึงจุดหนึ่งที่ทั้งสองตัดสินใจจะใช้ชีวิตร่วมกันตราบชั่วนิจนิรันดร์ งานแต่งงานจึงเกิดขึ้น งานแต่งงานคือ งานมงคลแห่งความรักที่ทั้งคู่ได้ให้คำมั่นสัญญากันว่า “จะอยู่เคียงข้างกันตลอดไป” ต่อหน้าพ่อ แม่ ครอบครัว ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง ซึ่งหากใครกำลังสงสัยว่าพิธีงานแต่งงานแบบไทยๆ นั้นมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? ในบทความนี้จะขออธิบาย 8 ลำดับพิธีแต่งงานแบบเข้าใจง่ายๆ ให้ทุกคนได้รู้กัน

หากผู้อ่านท่านใดกำลังแพลนจัดงานแต่งงานอยู่ ยังไม่มีสถานที่จัดงานแต่งสามารถปรึกษาเราได้คลิกปุ่มด้านล่างนี้เพื่อปรึกษาเราได้ฟรี!

1. พิธีสงฆ์

การแต่งงานคืองานมงคลประเภทหนึ่ง ซึ่งทุกงานมงคลในวัฒนธรรมไทยนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะขาดพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อเสริมสิริมงคล และขั้นแรกของพิธีงานแต่งนั้นก็คือ พิธีสงฆ์หรือการทำบุญตักบาตรที่มักจะถูกจัดในช่วงเช้าของวันแต่งงาน

พิธีสงฆ์ ประกอบไปด้วย

  • นิมนต์พระสงฆ์ 9 รูป และพระประธาน 1 รูป ทั้งหมด 10 รูป
  • เมื่อพระสงฆ์พร้อม คู่บ่าวสาวพร้อม ให้บ่าวสาวจุดเทียนที่โต๊ะหมู่บูชา ด้วยธูป 3 ดอก เทียน 2 เล่ม พร้อมกราบพระพุทธ 3 ครั้ง และหันไปกราบพระสงฆ์
  • จากนั้นจะเข้าสู่พิธีการสวดบูชาพระรัตนตรัย การให้ศีล เจริญพระพุทธมนต์ และพาหุง
  • เมื่อเสร็จสิ้นพิธีการสวด เจ้าบ่าวเจ้าสาวจะลุกไปตักบาตร และประเคนอาหารให้แก่พระสงฆ์
  • หลังพระสงฆ์ฉันเสร็จเป็นที่เรียนร้อย ก็จะถึงเวลากรวดน้ำ ถือเป็นการจบพิธีสงฆ์

2. การตั้งขบวนขันหมาก และแห่ขันหมากงานแต่ง – ประตูเงินประตูทอง

เมื่อพิธีสงฆ์เสร็จสิ้นขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการแห่ขันหมาก ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพและให้เกียรติต่อครอบครัวฝ่ายเจ้าสาวและตัวเจ้าสาวเอง อีกทั้งยังถือเป็นการต้อนรับฝ่ายชายเข้าสู่ครอบครัวฝ่ายสาวอีกด้วย เมื่อถึงฤกษ์แห่ขันหมาก จะเริ่มจากการโห่ร้อง “โห่ ฮี โห่ ฮี โหหห ฮิ้ว” 3 รอบ จากนั้นเริ่มเดิน ซึ่งระยะทางก็แล้วแต่สถานที่จัดงานแต่งจะอำนวย โดยการแห่นั้นจะไปหยุดชั่วคราวที่ประตูทางเข้าสู่ห้องหรือบ้านเจ้าสาว หรือก็คือประตูเงินประตูทองนั่นเอง ซึ่ง ณ จุด ประตูเงินประตูทองฝ่ายเจ้าบ่าวหรือตัวเจ้าบ่าวนั้นจะต้องทำภารกิจ หรือใส่ซองเผื่อผ่านด่านประตูไปให้ได้

การแห่ขันหมากประกอบด้วย

  • เฒ่าแก่ (ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวที่ให้ความเคารพ นำขบวน)
  • เจ้าบ่าวถือพานธูปเทียน
  • พ่อเจ้าบ่าว หรือแม่เจ้าบ่าว พานขันหมากเอกเดินไปพร้อมกัน
  • ญาติ หรือเพื่อนเจ้าบ่าวพานต้นกล้วย และ พานต้นอ้อย เดินคู่กัน
  • ญาติพี่น้องและคนรู้จักพานขันหมากโท
  • ญาติพี่น้องถือพานแหวนหมั้น
  • ญาติพี่น้องถือคู่พานสินสอด เดินเคียงกัน
  • ญาติพี่น้องถือคู่พานผลไม้มงคล เดินเคียงกัน
  • ญาติพี่น้องถือคู่พานขนมมงคล 9 ชนิด เดินเคียงกัน

3. พิธีสู่ขอและพิธีปูเรียงสินสอด – สู่ขอเจ้าสาวและนับสินสอด

เมื่อแห่ขันหมากผ่านประตูเงิน ประตูทองมาได้แล้ว พร้อมฝ่ายเจ้าบ่าวได้วางพานทั้งหมดลงบนโต๊ะที่จัดเตรียมโดยฝั่งเจ้าสาวเรียบร้อย ก็จะเข้าสู่ พิธีสู่ขอเจ้าสาว โดยจะเริ่มจากการเรียนเชิญผู้ใหญ่ที่เคารพและพ่อแม่ของทั้ง 2 ฝ่ายขึ้นมาบนเวที โดยฝ่ายเจ้าบ่าวนั่งอยู่ฝั่งขวาของเวที และฝ่ายเจ้าสาวนั่งอยู่ฝั่งซ้ายมือ จากนั้นผู้ใหญ่ที่เคารพและพ่อแม่ของเจ้าบ่าวจะกล่าวแนะนำตัว และกล่าวสู่ขอลูกหรือเจ้าสาวให้กับเจ้าบ่าว และเชิญฝั่งพ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาวตรวจนับสินสอดทองหมั้น ฝั่งพ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาวจะทำการเปิดพานสินสอดเพื่อนับสินสอดเป็นพิธี เมื่อเสร็จสิ้นผู้ใหญ่ทั้ง 2 ฝ่ายจะทำการโรยถั่วงา ข้าวเปลือก ข้าวดอก ดอกไม้ ใบเงิน ใบทองลงบาสินสอด พร้อมให้พร จากนั้นแม่ฝ่ายเจ้าสาวก็จะห่อสินสอดแบกขึ้นบ่า และมอบให้กับเพื่อนเจ้าสาวนำไปเก็บในที่ปลอดภัย

4. พิธีสวมแหวนหมั้น

หลังเสร็จสิ้นพิธีสู่ขอ ปูเรียงสินสอดเรียบร้อย ก็จะเข้าสู่พิธีสวมแหวนหมั้น โดยฝ่ายเจ้าบ่าวจะสวมแหวนให้กับเจ้าสาวที่นิ้วนางข้างซ้ายก่อน เมื่อสวมแหวนแล้วเจ้าสาวจะก้มกราบเจ้าบ่าวที่ตักหรือระดับอกของเจ้าบ่าวหนึ่งครั้ง จากนั้นจะถึงฝ่ายเจ้าสาวสวมแหวนให้กับเจ้าสาว เมื่อสวมเสร็จเรียบร้อยให้ทั้งคู่บ่าวสาว ก้มกราบรำลึกพระคุณบิดามารดา พิธีนี้จะเกิดขึ้นต่อหน้าแขกผู้มีเกียนติ ญาติ มิตร สหายทั้งมวดที่เดินทางมาเป็นสักขีพยาน

5. พิธีรับไหว้ หรือ พิธีไหว้ผู้ใหญ่

เมื่อเจ้าบ่าว เจ้าสาวได้สวมแหวนหมั้นเรียบร้อยแล้ว พิธีถัดมาก็คือพิธีรับไหว้ ซึ่งเป็นการเชิญผู้ใหญ่ทีละคู่ขึ้นมาบนเวทีหรือในส่วนที่ได้มีการจัดพื้นที่ไว้ให้ โดยพิธีการไหว้ผู้ใหญ่ เจ้าบ่าวเจ้าสาวจะต้องก้มกราบพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ 3 ครั้ง ส่วนญาติผู้ใหญ่อื่นๆ ก้มกราบครั้งเดียวโดยไม่ต้องแบบมือ ทางผู้ใหญ่เองนั้นจะรับไหว้และผูกสายสิญจน์ที่ข้อมือบ่าวสาว พร้อมให้พรและซองเงินบนพานที่บ่าวสาวถืออยู่

6. พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพร

พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ หรือเป็นที่รู้จักกันในนามพิธีรดน้ำสังข์ เป็นขั้นตอนที่พ่อแม่ พี่น้อง ญาติ เพื่อน มิตรสหายต่างๆ จะได้มีโอกาสอวยพรแด่คู่บ่าวสาว โดยพิธีจะเริ่มจากการจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย และขึ้นนั่งบนตั่ง คู่บ่าวสาวพนมมือ วางลงบนหมอนรองมือ ด้านล่างจะมีพานรองน้ำสังข์ ประธานพิธีทำการสวมมงคลแฝดและเจิมหน้าผากของคู่บ่าวสาว พร้อมกล่าวอวยพรและเริ่มรดน้ำสังข์โดยเรียงจากความอาวุโส

7. พิธีเรียงหมอน ส่งคู่บ่าวสาวเข้าเรือนหอ

พิธีเรียงหมอนหรือ พิธีปูที่นอน เสมือนเป็นการอวยพรให้คู่บ่าวสาวมีชีวิตคู่ที่มั่นคง มีความรักที่ยั่งยืนยาวนาน โดยผู้ทำพิธีปูเตียงนั้นควรจะเป็นผู้ที่มีชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์ มีความซื่อสัตย์ต่อคู่ของตน เป็นที่เคารพนับถือ โดยพิธีจะเริ่มจาก คู่สามี-ภรรยา (ญาติผู้ใหญ่ที่น่าเคารพ) ปูผ้าที่ซื้อมาใหม่ลงบนเตียง จัดเรียงหมอน 2 ใบ ปัดที่นอนให้สะอาด โรยข้าวตอก พืชมงคลต่างๆ ลงบนที่นอน จากนั้นนอนลงบนตัว แสร้งทำเป็นหลับไป ลุกจากเตียง เพื่อกล่าวคำอวยพรต่างๆ แก่คู่บ่าวสาว จากนั้นให้คู่บ่าวสาวนอนลงบนเตียง และให้ทั้งคู่ได้ใช้เวลาร่วมกันตามลำพัง

8. ฉลองมงคลสมรส

เมื่อพิธีมงคลทั้งหมดได้ถูกดำเนินไปอย่างเรียบร้อยดีแล้ว อีกหนึ่งพิธีที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ งานฉลองมงคลสมรส ซึ่งจะเป็นงานที่รวมแขกจากทั้งฝ่ายเจ้าบ่าว เจ้าสาว เช่นญาติผู้ใหญ่ ครอบครัว เพื่อนพ่อ เพื่อนแม่ เพื่อนเจ้าบ่าว เพื่อนเจ้าสาว เพื่อนร่วมงาน คนรู้จักของญาติผู้ใหญ่ฝั่งต่างๆ ลักษณะงานเลี้ยงนั้นมักถูกเลือกจัดแบบโต๊ะจีน คอกเทล หรือบุฟเฟ่ต์ ภายในงานจะเปิดโอกาสให้แขกได้ถ่ายรูปกับคู่บ่าวสาว ได้ดู VDO Presentation ได้ฟังสัมภาษณ์ เพื่อรู้จักกับคู่บ่าวสาวมากขึ้น อีกทั้งยังมีช่วงจุดเทียน ตัดเค้ก มอบเค้กให้พ่อแม่ และโยนดอกไม้ให้สาวโสด

งานแต่งงานนั้นเป็นพิธีมงคลที่สำคัญมากๆ เนื่องจากทั้งชีวิตของเรานั้นอาจจะมีเพียงแค่งานเดียวเท่านั้น ทั้ง ครอบครัว พี่น้อง ญาติ เพื่อน แขกคนสำคัญทั้งหมดมารวมตัวกันเป็นพยานอยู่ที่นี่ที่เดียว ซึ่งสามารถเป็นโมเม้นต์สำคัญของชีวิตที่อาจหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว ดังนั้นการวางแผนจัดงานแต่งจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากๆ ในบทความนี้จึงได้ขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้คู่บ่าวสาวเข้าเกี่ยวกับพิธีงานแต่งงานมากขึ้น จึงขอแนะนำ 8 พิธีงานแต่งแบบไทยที่ง่าย หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะ